วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554 0 ความคิดเห็น By: อรนภา แก้วพลาย

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

1.            กำเนิดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
                มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่กันเป็นหมู่เหล่าตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว หน่วยเล็กที่สุดของสังคมคือครอบครัวขนาดใหญ่ขึ้นมาเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จนในที่สุดเป็นเมือง และเป็นประเทศตามลำดับมนุษย์แต่ละหมู่เหล่ามีการติดต่อสื่อสารพบปะกัน เพื่อแลกเปลี่ยนอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ ยารักษาโรคที่ชุมชนของตนไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ ฯลฯ จนเกิดเป็นการค้าขายระหว่างหมู่บ้าน ตำบล เมือง และประเทศขึ้น การติดต่อในยุคแรก ๆ เป็นการบอกกันปากต่อปาก ต่อมามีการสื่อสารกันด้วยตัวอักษรที่จารึกบนวัสดุต่าง ๆ ซึ่งกลายมาเป็นการส่งจดหมายถึงกัน จากนั้นมีการสื่อสารกันด้วยวิธีการที่หลากหลายและมีความรวดเร็วมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีโทรคมนาคม ซึ่งอาศัยหลักวิชาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนคำพูด ข้อความหรือภาพ  เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปตามสาย หรือเปลี่ยนเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เรียกว่า คลื่นวิทยุกระจายไปในอากาศ เมื่อถึงปลายทาง สัญญาณหรือคลื่นที่ส่งไปนั้นจะถูกคืนสภาพให้กลับเป็นเป็นคำพูดข้อความหรือภาพเหมือนกับสิ่งที่ส่งออกไปจากต้นทาง พัฒนาการของเทคโนโลยีโทรคมนาคมนี้ ทำให้คนที่อยู่คนละซีกโลกกันสามารถรับรู้ข่าวสารของกันและกันได้ภายในชั่วพริบตา เพราะอัตราความเร็วของการเดินทางของสัญญาณไฟฟ้าตามสาย หรือของคลื่นวิทยุนั้น อยู่ในระดับเดียวกับความเร็วของแสง  เช่น เหตุร้ายจากการก่อวินาศกรรมโดยใช้เครื่องบินโดยสารที่ถูกจี้บังคับมาชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่นครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 11กันยายน พ.ศ. 2544 นั้น คนทั้งโลกได้เห็นเหตุการณ์สดๆ ผ่านเครือข่ายข่าวโทรทัศน์ของซีเอ็นเอ็น
                เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พึ่งมีขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 20ปีที่ผ่านมานี่เองเป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากการรวมเทคโนโลยี 2 ประเภทเข้าด้วยกัน คือ เทคโนโลยีโทรคมนาคม กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คำว่า สารสนเทศ หมายถึง ตัวเนื้อหาสาระของข้อมูลข่าวสาร โดยใช้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ ปรับเปลี่ยนรูปแบบของสารสนเทศ และใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมซึ่งพัฒนามาจากเครือข่ายโทรทัศน์และเครือข่ายวิทยุมาสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขึ้น เป็นการนำเอาความสามารถของคอมพิวเตอร์(คำนวณ ประมวลผล เปรียบเทียบ และตรวจสอบ ได้รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ)มารวมกับความสามารถของระบบโทรคมนาคม (ติดต่อได้รวดเร็วและกว้างไกล) ดังนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศ จึงหมายถึง เทคโนโลยีที่ใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มาจัดการเกี่ยวกับสารสนเทศนั่นเอง


เทคโนโลยีโทรคมนาคม
                เทคโนโลยีโทรคมนาคม เริ่มจากการประดิษฐ์โทรเลขของ แซมวล มอร์ส(Samual Morse) ในปี พ.ศ. 2380 นับว่าเป็นครั้งแรกที่ข่าวสารถูกแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปตามสายเป็นระยะทางไกลๆได้ โดยอาศัยวิธีการเข้ารหัสตัวอักษร เป็นรหัสอื่นที่ประกอบด้วยจุด (.) และขีด (-) เช่น สัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน SOS จะเข้ารหัสเป็น... - - - ... การรับส่งโทรเลขได้ถูกนำมาใช้งานในเชิงการค้าตั้งแต่ พ.ศ. 2387 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2401 ได้มีการวางสายเคเบิลใต้มหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้เกิดการสื่อสารข้ามทวีประหว่างทวีปอเมริกากับทวีปยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก

เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)                 
                เมื่อเนื้อหาข้อมูลมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลเราจึงนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการจำแนก จัดหมวดหมู่ จัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจึงเรียกวิธีการดำเนินงานเช่นนี้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT)
                คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (2543) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีสานสนเทศว่า หมายถึง ความรู้ในผลิตภัณฑ์หรือในกระบวนการดำเนินงานใด ๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีซอฟต์แวร์  ฮาร์ดแวร์ การติดต่อสื่อสาร การรวบรวมและการนำข้อมูลมาใช้ทันการเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพทั้งทางด้านการผลิต  การบริการ  การบริหาร  และการดำเนินการ  รวมทั้งเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้  ซึ่งจะส่งผลต่อความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจ  การค้า และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพของประชาชนในสังคม ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงเป็นการนำวิทยาการที่ก้าวหน้าทางด้านคอมพิวเตอร์ผสมผสานกับการสื่อสาร ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์ในการใช้งานได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(Information and Communication Technology)
                ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์แผ่อิทธิพลไปสู่สังคมโลกทำให้ข้อมูลข่าวสารสามารถเชื่อมโยงกันแบบเครือข่ายหรือใยแมงมุมได้ทั่วทุกมุมโลกโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่นโทรศัพท์ ดาวเทียม เส้นใยแก้วนำแสง ไมโครเวฟ ผสมผสานกันเพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น เราจึงเรียกกระบวนการนี้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information Communication Technology : ICT)

ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ
                ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างแพร่หลายเป็นที่สนใจของคนทุกมุมโลกทุกสาขา สามารถนำมาใช้ในการดำเนินงานและชีวิตประจำวันได้อย่างกว้างขวาง การจัดการเรียนรู้และการศึกษาในสมัยนี้จึงมีหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเข้าไปด้วย เทคโนโลยีที่มีความสำคัญและเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันได้แก่เทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะปัจจุบันนี้อุปกรณ์หลายชนิดก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ มือถือ อินเทอร์เน็ต PDA, GPS ดาวเทียม และเมื่อไม่นานมานี้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นการบ่งบอกว่าสังคมให้ความสำคัญแก่คอมพิวเตอร์มากขึ้น

 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
ในสังคมปัจจุบันไม่ว่าใครจะอยู่ที่ใด แม้ในเมืองหรือชนบทก็ตาม  ย่อมมีการติดต่อสื่อสารกับบุคคลหรือสังคมอื่นอยู่เสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นหรือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในชีวิตประจำวันด้วยสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง  วิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร ล้วนเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งสิ้น  นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีเครื่องมือหรือกลไกเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น การถอนเงินจากเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM : Automatic Teller/Technology Machine) การสแกนลายนิ้วมือการเข้าปฏิบัติงานในสำนักงาน การจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าผ่านบัตรแถบแม่เหล็ก เป็นต้น  เหล่านี้เป็นตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน ยิ่งไปกว่านั้น ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการใหม่ ๆ ก่อให้เกิด เครื่องมือหรือวิธีการในการอำนวยความสะดวกในการใช้บริการอย่างรวดเร็ว เช่น การทำบัตรประจำตัวประชาชน สามารถให้บริการโดยเชื่อมต่อ ระบบออนไลน์ (online system)ซึ่งเป็นระบบสายตรงที่มีประโยชน์มาก และเป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็น กรณีตัวอย่าง เช่น การรับบริการรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาล ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการ โดยผู้ป่วยสามารถบอกชื่อนามสกุลที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ก็สามารถเรียกเวชระเบียนออกมาได้อย่างรวดเร็ว เพราะโรงพยาบาลมีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง ทำให้เวชระเบียนที่อยู่ในรูปแบบของ
แผนกจ่ายยา ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ถูกส่งจากคอมพิวเตอร์แม่ข่ายไปปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ในห้องตรวจของแพทย์ได้ทันที เมื่อแพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยโรค สามารถสั่งการรักษาหรือสั่งยา จากห้องแพทย์ไปสู่แผนกเอ็กซเรย์